“ตึกประชาธิปก” จากน้ำพระทัยสมด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรที่ดินที่จังหวัดจันทบุรีนั้น ทรงช่วยข้าราชบริพารเตรียมพระกระยาหารและทรงทำมีดบาดพระดัชนีเป็นรอยแผล จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๕๓ ทรงประสบกับภาวะขาดแคลนและยากไร้ของโรงพยาบาลซึ่งมีอาคารขนาดเล็กๆ เพียงหลังเดียวที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครในพระราชินูปถัมภ์เพื่อจัดหาทุนก่อสร้างตึกผ่าตัดให้แก่โรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช ๒๔๙๗ ได้พระราชทานนามตึกหลังนี้ว่า “ตึกประชาธิปก” และพระราชทานตราศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ อันเป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นตราประจำตึก และทรงสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าตึกด้วย
ด้วยพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รัฐบาลสมัยนั้นจึงสนองพระราชดำริโดยการปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีขนาดใหญ่และทันสมัยยิ่งขึ้น คือ ขยายจากโรงพยาบาลขนาด ๕๐ เตียงเป็น ๑๕๐ เตียง พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย และได้สร้างวิทยาลัยพยาบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของภาคตะวันออก ทั้งให้มีการเปลี่ยนนามโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงรับโรงพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยพยาบาลไว้ในพระราชินูปถัมภ์ และได้พระราชทานทุนในการดำเนินงานของโรงพยาบาล ชื่อ “ทุนประชาธิปก” ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็น “มูลนิธิประชาธิปก” ในพุทธศักราช ๒๕๑๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาล พระปกเกล้า และวิทยาลัยครูจันทบุรี ในการก่อสร้างจัดซื้อวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนพยาบาลและนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรีที่เรียนดี ความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เงื่อนไขสำคัญของการรับทุน คือ ผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไป
|
|
|